มีอีกเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับโซลาร์เซลล์ที่เริ่มแพร่หลายกันมากขึ้นได้ระดับการติดตั้งขนาดใหญ่มากกว่า 500kW หรือ 10 ล้านบาทขึ้นไป คือสิ่งที่เรียกว่า Private PPA ครับ เรียกง่ายๆว่ามันคือ “สัญญาการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างคนใช้ไฟกับคนที่ติดให้ฟรี” ก็ได้ โดยคนที่อยากใช้ไฟจะให้บริษัทเอกชนที่มีเงินทุนมาติดโซลาร์ให้ โดยที่ไม่ต้องจ่ายเงินซักบาท แต่ต้องแลกด้วยการซื้อไฟจากเค้าในระยะยาว
สัญญาแบบนี้มันมีดีอะไร ทำไมนายทุนถึงกล้าลงทุนให้ และโรงงานจะเลือก Private PPA หรือไปกู้เงินลงทุนเองจะดีกว่า บทความนี้จะมาอธิบายทุกมุมมองให้เข้าใจ Private PPA ที่จะช่วยลดค่าไฟและช่วยลดโลกร้อนโดยที่ไม่ต้องพึ่งรัฐบาลให้มากขึ้นครับ
Pain point ปัจจุบันของโรงงานขนาดใหญ่
โรงงานที่มีค่าไฟช่วงกลางวันหนักๆ 300,000 บาทขึ้นไป ถ้าอยากติดโซลาร์เพื่อลดค่าใช้จ่ายส่วนนี้สามารถติดได้ตั้งแต่ 500kW เลยครับ ซึ่งค่าใช้จ่ายอย่างน้อยต้อง 12 ล้านบาทขึ้นไปแน่ครับ ซึ่งเม็ดเงินมหาศาลแบบนี้จะนำมาลงทุนก็ไม่ง่ายนัก เพราะ
– บริษัทไม่มีเงินสดมากพอ
– บริษัทอยากเก็บเงินไว้เพื่อใช้หมุนเวียนในบริษัท
– บริษัทแม่จากต่างประเทศไม่มีนโยบายในการกู้ หรือลงทุนขนาดใหญ่
– บริษัทมีสินเชื่อเต็มวงเงินแล้ว
– บริษัทที่ไม่อยากเสี่ยงลงทุนเองเพราะไม่มีความชำนาญด้านนี้พอ
เพราะฉะนั้น ถึงโรงงานจะเห็นถึงความคุ้มค่าในการลงทุนและประโยชน์อื่นๆ ที่ได้รับอย่างมหาศาลจากการติดตั้งโซลาร์เซลล์ แต่เนื่องด้วยข้อจำกัดเหล่านี้ ทำให้โรงงานยังไม่มีความพร้อมที่จะลงทุน
Private Power Purchase Agreement (Private PPA)
คือ สัญญาการซื้อขายไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งบนหลังคาโรงงาน โดยผู้ประกอบการไม่ต้องลงทุนแต่อย่างใด (ลงทุน 0 บาท) เพราะจะมีบริษัทนายทุนออกค่าใช้จ่ายการติดตั้ง การดูแลและอื่นๆที่เป็นค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด
โดยมีเงื่อนไขคือ บริษัทที่นายทุนไปติดโซลาร์เซลล์ให้จะต้องเซ็นสัญญาการซื้อไฟจากนายทุนเป็นระยะเวลา 15-20 ปี โดยนายทุนจะขายไฟในราคาถูกกว่าการไฟฟ้าได้สูงสุดถึง 40% จากเรทปกติ โดยหลังจากที่ครบสัญญา นายทุนจะยกระบบโซลาร์เซลล์ทั้งหมดมูลค่ามากกว่า 12 ล้านบาท ให้แก่บริษัทโดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น ซึ่งนั่นจะทำให้บริษัทได้ไฟฟรีเสมือนเป็นคนลงทุนเองเลย
ยกตัวอย่างเช่น บริษัทนายทุน B ทำสัญญา Private PPA โดยจะติดตั้งโซลาร์เซลล์ขนาด 1mW ให้บริษัท A ฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย แต่โดยมีเงื่อนไขว่าต้องซื้อไฟด้วย ซึ่งจะลดค่าไฟให้ 30% จากเรทของการไฟฟ้าเป็นระยะเวลา 15 ปี และเมื่อหมดอายุสัญญา จะยกระบบโซลาร์เซลล์ให้ทั้งหมด
โดยเฉลี่ยแล้วโซลาร์เซลล์ขนาด 1mW จะผลิตกระแสไฟฟ้าได้ประมาณ 100,000 หน่วยต่อเดือน หากการไฟฟ้าคิดที่เรท 5.2 บาท แปลว่าบริษัท B จะคิดที่ 3.64 บาทต่อหน่วยเท่านั้น (ลด 30%) เมื่อคิดเป็นเดือนแล้วจะประหยัดไปอย่างน้อย 160,000 บาท คิดเป็นต่อปีคือประมาณ 2 ล้านบาท โดยที่ไม่ต้องลงทุนอะไรเลยแม้แต่น้อย
แล้วถ้าคิดจนครบอายุโครงการก็อาจประหยัดได้ถึง 29.2 ล้านบาทภายใน 15 ปี และเมื่อจบสัญญาจนได้ระบบมาเป็นของตัวเอง ไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ทั้งหมดก็จะฟรีทันทีซึ่งอาจจะกลายเป็นประหยัดได้เดือนลด 470,000 บาทเป็นอย่างน้อย แล้วในท้ายที่สุด หากระบบนี้สามารถอยู่ได้ 30 ปี ค่าไฟฟ้าที่ประหยัดได้ทั้งหมดจากการทำ Private PPA ก็จะมากถึง 112,300,000 บาทโดยที่ไม่ต้องลงทุนอะไรเลย
เปรียบเทียบการติดโซลาร์เซลล์เองกับ Private PPA
โดยทั่วไป สำหรับการติดตั้งโซลาร์เซลล์ด้วยตัวเองนั้น กระแสไฟฟ้าตรง (DC) ที่ได้จากแผงโซลาร์เซลล์ซึ่งแปลงมาจากพลังงานแสงอาทิตย์จะถูกส่งต่อไปยังอินเวอร์เตอร์ (Inverter) เพื่อแปลงเป็นกระแสไฟฟ้าสลับ (AC) ที่ใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าทั่วไป หลังจากนั้นกระแสไฟฟ้าจะไหลไปที่ตู้ MDB หรือ Electric box
ซึ่งในขณะเดียวกันนั้น กระแสไฟฟ้าจากการไฟฟ้า (Grid) ก็จะไหลจากผ่านมิเตอร์ไฟฟ้าเข้าไปสู่ตู้ MDB ด้วยเช่นกัน ดังนั้น เมื่อใดก็ตามที่โซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าได้ ตู้ MDB จะดึงกระแสไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์มาก่อน แต่ถ้าเมื่อใดที่โซลาร์เซลล์ไม่ได้ผลิตไฟหรือผลิตไม่พอ ก็จะดึงไฟฟ้าจากการไฟฟ้าขอมาชดเชยส่วนที่ไม่เพียงพอ
ซึ่งมิเตอร์ไฟฟ้าจะคอยวัดกระแสไฟฟ้าที่โรงงานดึงจากการไฟฟ้า แล้วคิดเป็นค่าไฟต่อเดือนนั่นเอง
แต่ในส่วนของ Private PPA นั้นจะส่วนที่แตกต่างกันเล็กน้อย คือ โรงงานจะเป็นผู้ซื้อไฟฟ้า การไฟฟ้า และจากบริษัทนายทุนที่ติดโซลาร์เซลล์บนหลังคา ทำให้บริษัทนายทุนเองก็ต้องติดตั้ง “มิเตอร์ไฟฟ้า” ไว้ก่อนที่ไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์จะถูกส่งไปที่ตู้ MDB เพื่อให้วัดได้ว่าใช้ไฟฟ้าไปกี่หน่วย แล้วจึงคิดค่าไฟในอัตราที่ถูกกว่าการไฟฟ้าตามสัญญา Private PPA นั่นเอง
ทำ Private PPA หรือ ติดตั้งเอง หรือขอสินเชื่อจากธนาคารดีกว่ากัน
หลังจากเห็นตัวอย่างการทำ Private PPA ไปแล้ว หลายคนน่าจะเห็นว่าโซลาร์เซลล์สามารถประหยัดค่าไฟฟ้าได้มากขนาดไหน แบบนี้ถ้าเราลงทุนเองหรือขอสินเชื่อจากธนาคารมา ก็จะคุ้มค่ากว่าหรือไม่ เพราะค่าไฟจะได้ลดแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วยทันทีตั้งแต่ติดตั้งระบบ
ซึ่งคำตอบของคำถามนี้ไม่มีแบบไหนถูกหรือผิดตายตัว มันขึ้นอยู่กับบริบทของบริษัทนั้นๆว่ามีความพร้อมในด้านไหนมากกว่ากัน ยกตัวอย่างเช่น บริษัทข้ามชาติหลายแห่งมีนโยบายไม่ลงทุนก้อนใหญ่ >>> การเลือก Private PPA จึงเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุด
สำหรับบริษัทที่พอมีเงินทุนหมุนเวียน สามารถทยอยติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่ละ Phase ตามสภาพคล่องที่มี
และสำหรับบริษัทที่สามารถขอสินเชื่อจากธนาคารหลายแห่งได้ ตอนนี้มีสินเชื่อ Go green หรือ BCG Economy ที่สนับสนุนการลงทุนเพื่อติดตั้งโซลาร์เซลล์ด้วยเช่นกัน
ขั้นตอนการทำ Private PPA
1. บริษัท A ต้องการลดค่าไฟจากโซลาร์เซลล์ แต่ไม่อยากควักเงินตัวเองจ่าย จึงติดต่อไปที่บริษัทนายทุน B ที่พร้อมจะลงทุนให้
2. บริษัทนายทุน B ขอข้อมูลบริษัทต่างๆ เช่น ทุนจดทะเบียน, ผลประกอบการย้อนหลัง, สถานะการเงิน สถิติการใช้ไฟฟ้าย้อนหลัง อย่าง AMR Meter, สภาพพื้นที่ติดตั้ง เป็นต้น เพื่อให้มั่นใจได้ว่าบริษัท A เหมาะที่จะติดตั้งโซลาร์เซลล์และสามารถประกอบธุรกิจไปได้นานมากกว่า 15 ปี
3. หากบริษัทนายทุน B ให้ผ่าน หลังจากนี้จะเป็นการตกลงเรื่องสัญญา Private PPA ว่าจะมีรายละเอียดอย่างไร โดยหลักแล้วจะคุยกันอยู่ 3 ประเด็นคือ 1) อายุสัญญากี่ปี 2) ส่วนลดกี่เปอร์เซ็นจากเรทของการไฟฟ้า 3) ผลประโยชน์อื่นๆ เช่น Carbon credit, ระบบหลังหมดสัญญา เป็นต้น
4. เมื่อตกลงสัญญากันได้เรียบร้อย บริษัทนายทุน B จะไปมองหาบริษัท C ที่รับติดตั้งโซลาร์เซลล์ (EPC) มาติดตั้งแล้วเริ่มทำการขายไฟฟ้าให้กับบริษัท A ซึ่งในระหว่างอายุสัญญานั้นบริษัท C จะเป็นผู้ดูแลระบบให้ทั้งหมด ทั้งการตรวจสอบ บำรุงรักษา ทำความสะอาด หรือแก้ปัญหาเมื่อเกิดเหตุขัดข้องที่อาจทำให้การผลิตไฟฟ้าไม่เป็นไปตามที่ควรจะเป็น
Private PPA ตอบโจทย์ผู้ประกอบการ นายทุน และโลก
จากโมเดล Private PPA ที่ได้เล่ามานั้น น่าจะพอทำให้หลายคนเห็นภาพได้ว่ามันเป็นอีกหนึ่งใน Solution ที่ช่วยแก้ปัญหาที่หลายฝ่ายต้องการได้อย่างพอดีนั่นคือ
1. ผู้ประกอบการโรงงาน / อาคารที่ใช้ไฟสูง
กลุ่มคนเหล่านี้ที่ไม่ต้องการควักเงินตัวเอง แต่ต้องการประหยัดค่าไฟฟ้า และรู้ดีว่าโซลาร์เซลล์ช่วยแก้ปัญหานี้ได้ ก็จะใช้โมเดล Private PPA ทำให้ค่าไฟรายเดือนลดลงทันทีโดยที่ลงทุน 0 บาท นอกจากนี้หากโรงงานเกี่ยวข้องกับการส่งออกไปยุโรปซึ่งมีแนวโน้มที่มาตรการ CBAM (มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป) จะมีผลบังคับใช้ ก็สามารถต่อรองกับบริษัทนายทุนเรื่อง Carbon credit ที่ได้รับจากโซลาร์เซลล์ได้เช่นกัน
2. บริษัทนายทุน
กลุ่มคนเหล่านี้เป็นผู้ที่ต้องการลงทุนในระยะยาวที่มีรายได้มั่นคงอย่างน้อย 10% ต่อปี การทำสัญญา Private PPA จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการกระจายความเสี่ยงได้ดีอีกทางหนึ่งเช่นกัน ปัจจุบันในประเทศไทยมีบริษัทที่ทำ Private PPA ใหญ่ที่สุดคือ Green Yellow ที่ได้ดีล 180mW ทั่วไทย ทั้ง Makro 50 สาขา, CPALL, King Power, Betargo และอื่นๆ
นอกจากนี้ยังมี TF Tech ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง Energy Absolute (EA) และ Thaifoods group (TFG) ก็รับทำ Private PPA ไปมากกว่า 30mW แล้วเช่นกัน
3. โลก
พลังงานจากแสงอาทิตย์นับเป็นพลังงานสะอาดที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างสูงมากในไทยเรื่องจากเป็นประเทศที่อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร จึงมีแดดอยู่สม่ำเสมอแม้จะอยู่ในหน้าหนาวก็ตาม การลดการใช้ไฟฟ้าจากการไฟฟ้าที่ต้นทุนมากกว่าครึ่งหนึ่งยังเป็นฟอสซิล จะมีส่วนช่วยชลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่เป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาโลกรวนในปัจจุบัน
สรุป Private PPA
Private PPA นั้นเป็นอีกท่าหนึ่งที่กำลังจะได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆในเวลานี้ เนื่องจากแนวโน้มค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น ประกอบกับการหาแหล่งลงทุนระยะยาวที่ดูให้ผลตอบแทนได้ยั่งยืนของนายทุน และการประหยัดค่าใช้จ่ายทุกวิถีทางของบริษัทขนาดใหญ่ทำให้หลังจากนี้ เราจะได้เห็นสัญญา Private PPA มากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ผมรู้สึกว่าเทรนด์นี้จะยังคงดำเนินไปอีกอย่างน้อย 3 ปีจนกว่าบริษัทขนาดใหญ่ที่เหมาะสมที่สุดในการติดตั้งโซลาร์เซลล์จะติดตั้งครบกันทุกแหล่ง หลังจากนั้นสเกลในการเติบโตเรื่องนี้จะแผ่วลงเรื่อยๆ เหลือแต่เพียงโรงงานขนาดเล็ก หรือที่อยู่อาศัย ที่ไม่เหมาะกับ Private PPA อย่างไรก็ตาม แนวโน้มนี้ก็จะช่วยส่งเสริมให้โลกนี้หันมาใช้พลังงานสะอาดกันมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นผลดีอย่างมากต่อโลกของเราแน่นอนครับ